Skip to content Skip to footer

Looloo พร้อมรันวงการ AI หนุนองค์กรธุรกิจโตยกกำลัง

looloo AI ไทย

“ลูลู่ เทคโนโลยี มุ่งเน้นเรื่องการทำ AI Transformation ให้กับองค์กรธุรกิจ ภายใต้เกณฑ์ 3 ข้อคือ 1.มีประโยชน์กับสังคม 2.มีส่วนช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขัน 3.มีความล้ำสมัย ถ้าอยู่ใน 3 เกณฑ์นี้ ไม่ว่าจะยากแค่ไหน เราจะทำสุดความสามารถเพื่อช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในการปรับใช้ AI ให้ได้”

“ลูลู่ เทคโนโลยี มุ่งเน้นเรื่องการทำ AI Transformation ให้กับองค์กรธุรกิจ ภายใต้เกณฑ์ 3 ข้อคือ 1.มีประโยชน์กับสังคม 2.มีส่วนช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขัน 3.มีความล้ำสมัย ถ้าอยู่ใน 3 เกณฑ์นี้ ไม่ว่าจะยากแค่ไหน เราจะทำสุดความสามารถเพื่อช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในการปรับใช้ AI ให้ได้”

ตลอดปี 2023 เทคโนโลยี Generative AI ถูกจับตามองจากทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะ ChatGPT ที่มาพร้อมความฉลาดจากการใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model : LLM) สามารถโต้ตอบสื่อสารกับมนุษย์ได้ผ่านภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing : NLP) สร้างแรงกระเพื่อมระดับโลก ถึงขั้นที่ธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Goldman Sachs ยังมองว่า ภายในปี 2028 อุตสาหกรรม AI จะขับเคลื่อน GDP โลกให้เติบโตขึ้นถึง 7% คิดเป็นมูลค่าถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์

ขณะที่ภาพรวมตลาด AI ในวันนี้ ต้องยอมรับว่าเป็น Blue Ocean ขนานแท้ เพราะองค์กรธุรกิจทั่วโลกต่างต้องการความสามารถด้าน AI มาไว้ในครอบครอง แต่ในความจริงแล้วผู้ที่สามารถนำ AI หรือ Generative AI มาปรับใช้ในเชิงธุรกิจให้ได้ผลลัพธ์เป็นรูปธรรมกลับมีเพียงหยิบมือเท่านั้น

และนี่คือจุดเริ่มต้นของ ลูลู่ เทคโนโลยี (Looloo Technology) สตาร์ตอัพไทยที่โพสิชั่นตัวเองเป็น AI Expert ด้วยการรวมหัวกะทิไว้มากกว่า 100 คนในบริษัท พวกเขาซุ่มพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI มาถึง 3 ปี และวันนี้พวกเขาพร้อมจะทำสิ่งที่เรียกว่า “AI Transformation” ให้กับองค์กรธุรกิจไทย

“สาเหตุที่ ลูลู่ เทคโนโลยี เลือกทำธุรกิจด้าน AI เพราะเราเห็นแล้วว่า การที่องค์กรธุรกิจเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาล ก็เพื่อนำไปประมวลผลสู่ผลลัพธ์บางอย่าง และหากจะเริ่มธุรกิจเราก็อยากให้มีส่วนผสมของความสนุก ได้คิดค้นสิ่งใหม่เพื่อช่วยเหลือผู้คน ประเทศชาติ การโฟกัสธุรกิจไปที่ AI ตอบโจทย์เราได้มากกว่า”

ปริชญ์ รังสิมานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด บอกกับ การเงินธนาคาร ในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์พิเศษ เขาคือคนที่ชอบในเทคโนโลยี ถึงขั้นตั้งเป้าหมายกับตัวเองไว้ว่า “ในชีวิตนี้ เขาจะต้องสร้างเทคโนโลยีบางอย่างขึ้นบนโลกให้ได้” ขณะที่เส้นทางธุรกิจของ ปริชญ์ ก็เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญที่ทำให้เกิดสตาร์ตอัพด้าน AI อย่าง ลูลู่ เทคโนโลยี ขึ้นมา

จากนักเรียนทุน สู่สตาร์ตอัพ AI
รวมตัวหัวกะทิ ตั้ง Looloo Tech

ย้อนไปสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ปริชญ์ มีดีกรีเป็นนักเรียนทุนของ Freeman Foundation ศึกษาที่มหาวิทยาลัย Wesleyan University หลังเรียนจบ ก็กลับมาประเทศไทย และเริ่มงานแรกที่ บริษัท ต้นสน แคปปิตัล จากนั้นก็ตัดสินใจสมัครเรียนต่อปริญญาโทด้านการบริหารที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) โดยได้ทุนจาก McKinsey หลังจบจาก MIT ก็เริ่มงานที่กองทุนสำรองระหว่างประเทศของรัฐบาลสิงคโปร์ (Government of Singapore Investment Corporation – GIC) ซึ่งเป็น 1 ในกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“ตอนแรกผมถูกวางตัวให้ไปประจำการที่นิวยอร์ก แต่ตอนนั้นอเมริกาเกิด Hamburger Crisis พอดี เลยถูกปรับบทบาทไปเป็น Venture Capital (VC) ประจำ Silicon Valley แหล่งบ่มเพาะสตาร์ตอัพชื่อดังระดับโลกหลายราย”

ที่แห่งนี้เองที่ทำให้เขาได้คลุกคลีกับนวัตกรรม วัฒนธรรมสตาร์ตอัพ การคิดค้นทดลองสิ่งใหม่ เมื่อวิกฤติซับไพร์มเริ่มคลี่คลายก็กลับมาประจำการที่สิงคโปร์ได้อีกระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับประเทศไทยเพื่อสานต่อธุรกิจ “ปุ๋ยตราพาริช” ของครอบครัว

“ในชีวิตนี้ผมจะต้องสร้างเทคโนโลยีบางอย่างให้ได้”

นี่คือปณิธานของปริชญ์ ที่บอกกับตัวเองหลังกลับมารับช่วงต่อกิจการปุ๋ยตราพาริช นั่นเพราะเขาเห็นภาพชัดเจนมากว่า ในอนาคตเรื่อง Automation และ Artificial Intelligence (AI) จะกลายเป็นเทคโนโลยีเมนสตรีมของโลกอย่างแน่นอน

ในช่วงปลายปี 2019 เกิดการระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้เทคสตาร์ตอัพไทยใน Silicon Valley ที่เคยเป็นพาร์ตเนอร์ช่วงที่เขารับหน้าที่เป็น VC ทยอยกลับประเทศ ช่วงเวลานี้เองที่เขานัดเพื่อนชาวสตาร์ตอัพหารือเกี่ยวกับการทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี บทสนทนาครั้งนั้นนำมาสู่การตั้ง บริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คนคือ ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ อดีต Senior Software Engineer ที่ Google หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนา Google Assistant เวอร์ชั่นภาษาไทย และ สุปิติ บูรณวัฒนาโชค ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Dek-D.com และเคยผ่านการทำงานใน Silicon Valley อย่างโชกโชน

“ผมชอบเทคโนโลยี เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีกำแพงที่จะเข้าไปแข่งขัน (Barrier to Entry) แม้ว่าจะมาทีหลัง หรือไม่ได้รวยเท่าฝรั่ง แต่ถ้าทำดีพอก็สามารถเป็นผู้ชนะได้ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้อยากตั้งบริษัทในประเทศไทยและดึงบรรดาหัวกะทิเก่งๆ ในต่างประเทศกลับมาในประเทศ เพราะในด้านโซลูชั่นแล้วเราไม่ได้แพ้ต่างชาติ และทุกคนก็เริ่มเรื่อง AI Transformation ที่จุดเดียวกัน”

พร้อมช่วยธุรกิจโตยกกำลัง 100
ชี้ ยุค AI คำถาม สำคัญกว่า คำตอบ

ปริชญ์ เฉลยที่มาของชื่อ “ลูลู่” ว่ามาจากตัวเลข 100 ยกกำลัง 100 สะท้อนความหมายว่าถ้าองค์กรธุรกิจเดินหน้าเต็มที่ 100% แล้วต้องการโตเพิ่มแบบยกกำลัง 100 จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเท่านั้น

โดยหลังจากตั้ง ลูลู่ เทคโนโลยี ปริชญ์และผู้ร่วมก่อตั้งใช้เวลาอีก 3 ปี ในการพัฒนาเทคโนโลยีเตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการลูกค้าในปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้คือ ช่วงเวลาที่ทุกคนในบริษัทรอคอยอยู่ เป็นวันที่ทุกคนรู้แล้วว่า AI คืออะไร มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไร

“ทุกองค์กรล้วนอยากได้ AI มาใช้ในองค์กร แต่ที่ผ่านมา มีองค์กรธุรกิจน้อยมากที่ปรับใช้อย่างจริงจัง ยังมีองค์กรอีกมากที่ยังไม่มีแผน และไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง ลูลู่ เทคโนโลยี ขึ้นมา เราต้องการทำหน้าที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจประสบความสำเร็จในการใช้ AI สามารถมี ROI และสร้างอิมแพ็กต่อธุรกิจได้มากที่สุด”

ผู้ร่วมก่อตั้ง ลูลู่ เทคโนโลยี เน้นว่า การที่องค์กรธุรกิจปรับใช้ AI จะช่วยสร้าง Productivity ได้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่อง Demand Prediction เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรธุรกิจที่ไม่ได้ใช้ สามารถเห็นเป็นตัวเลขได้ว่า Productivity เพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจ FMCG มีสาขาจำนวน 100,000 แห่ง การใช้ระบบปกติ กับการใช้ AI นั้นต่างกันมากเมื่อเปรียบเทียบจากรายได้ โดย AI สามารถช่วยให้รู้ว่าแต่ละสาขาต้องเติมสินค้าในปริมาณเท่าใดเพื่อที่ไม่ให้เสียโอกาสในการขาย ซึ่งเมื่อคูณด้วยเวลา 50 สัปดาห์และจำนวน 100,000 สาขา จะเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน

ปริชญ์ บอกว่า การมาของ AI จะเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจ เป็นยุคที่มนุษย์จะได้ใช้ความคิดเพื่อ “ตั้งคำถามที่ถูก” มากกว่า “การหาคำตอบที่ใช่” โดยเขายกตัวอย่างจากการใช้งาน ChatGPT ที่ผู้ใช้จะต้องรู้ว่าควรตั้งคำถามอย่างไร เพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญในการค้นคว้า แต่ต้องเก่งที่จะตั้งคำถาม ซึ่งจุดนี้อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตสำหรับองค์กรธุรกิจที่ยังไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไร

ตั้งเป้าเป็น AI Expert สัญชาติไทย
ช่วยธุรกิจทำ AI Transformation

ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจไทย อยู่ในช่วงของการทำ Digital Transformation แต่สิ่งที่ ลูลู่ เทคโนโลยี นำเสนอคือ สถานีต่อไปของการขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต นั่นคือการทำ “AI Transformation” แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่งานง่าย ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทเทคโนโลยีรายไหนมุ่งเน้นในจุดนี้ แต่นี่จะเป็นจุดยืนของ ลูลู่ เทคโนโลยี ด้วยโพสิชั่นของการเป็น AI Expert

“ลูลู่ เทคโนโลยี มุ่งเน้นเรื่องการทำ AI Transformation ให้กับองค์กรธุรกิจ ภายใต้เกณฑ์ 3 ข้อคือ 1.มีประโยชน์กับสังคม 2.มีส่วนช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขัน 3.มีความล้ำสมัย ถ้าอยู่ใน 3 เกณฑ์นี้ ไม่ว่าจะยากแค่ไหน เราจะทำสุดความสามารถเพื่อช่วยให้ธุรกิจปรับใช้ AI ให้ประสบความสำเร็จให้ได้”

ปริชญ์ อธิบายแนวทางการทำ AI Transformation แบบรวบรัดว่า เริ่มจากการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาเข้าไปทำงานร่วมกับลูกค้า ค้นหาความต้องการ และทำความเข้าใจกับโจทย์ของธุรกิจเพื่อให้สามารถแก้ไข Pain Point ได้ตรงจุดที่สุด และสิ่งที่สำคัญต่อมาคือ เรื่องของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยทุกอย่างที่ทำจะต้องมีการนำ Design และ Process เข้าไปอยู่ในทุกงานที่ทำ สุดท้ายคือการทำ User Testing เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

“หัวใจสำคัญคือ การเข้าใจมนุษย์ และการเข้าใจในธุรกิจ ไม่ใช่แค่ใช้ AI แต่ต้องเข้าใจโจทย์อย่างแท้จริง รู้ว่าพฤติกรรมผู้ใช้เป็นอย่างไร ต้องรู้ให้ได้ว่าต้องมีฟังก์ชั่นอะไรบ้างถึงจะตอบโจทย์ผู้ใช้มากที่สุด และสุดท้ายคือ การทำ User Testing ที่ต้องทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าจนกว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุด กระบวนการเหล่านี้ทำให้เราเป็น AI Expert แต่ก็ครอบด้วยความเข้าใจมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราแตกต่าง”

สำหรับโปรดักต์ของ ลูลู่ เทคโนโลยี ปัจจุบันมี 2 โซลูชั่นหลัก ประกอบด้วย

1. Predictive Analytics : เป็นการใช้ Prediction Model เข้ามาช่วยองค์กรธุรกิจเพิ่มรายได้และกำไร เช่น การคาดการณ์ความต้องการของตลาด ยอดขาย และการจัดการสินค้าคงคลัง โดยทำให้ผู้ผลิตสินค้าสามารถคาดการณ์ได้ว่าในแต่ละช่องทางการจัดจำหน่าย ควรจะต้องขายหรือเพิ่มสินค้าอะไร เมื่อสามารถคาดการณ์ได้ ก็จะทำให้กระบวนการสั่งซื้อวัตถุดิบ การผลิต และการจัดเก็บสินค้าในแต่ละคลังมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยสามารถเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ปัญหาในอดีตของผู้ผลิตคือสินค้าขาด ทำให้เสียโอกาสในการขาย เช่น คาดว่าจะสามารถขายสินค้าได้ 10 ชิ้น แต่ความต้องการซื้อสินค้าจริงคือ 12 ชิ้น การปรับใช้ AI จะทำให้สามารถทำ Demand Prediction ได้แม่นยำ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ช่วยให้สินค้าพอดีกับความต้องการซื้อ และยังสามารถระบุได้อีกว่า ควรต้องเพิ่มสินค้าใน SKU ใดในแต่ละช่องทางเพื่อเพิ่มยอดขาย”

2. Generative AI : ลูลู่ เทคโนโลยี เป็นผู้ให้บริการด้าน AI รายแรกๆ ที่สามารถ Implement และ Deploy Generative AI ให้กับองค์กรธุรกิจได้ โดยจะเข้าไปช่วยปรับแต่ง (Fine-Tune) และดำเนินการด้าน Prompt Engineering ให้เข้ากับลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้ Generative AI สามารถเข้าใจบริบทของคำถามที่แตกต่างกันตามอุตสาหกรรมได้ โดยปัจจุบัน ลูลู่ เทคโนโลยี เป็นพันธมิตรกับ Google Vertex และ Microsoft ChatGPT Enterprise (รอประกาศ) ซึ่งเป็น 2 ค่ายผู้พัฒนา Generative AI หลักของโลก

ปริชญ์ ขยายความต่อว่า การใช้ประโยชน์จาก Generative AI ให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องมีข้อมูลประเภท Unstructured Data เข้ามาประมวลผลร่วมกับ Structured Data ขององค์กรด้วย ภายใต้โจทย์นี้ ลูลู่ เทคโนโลยี ยังมี 3 บริการหลัก ประกอบด้วย

  1. การแปลงข้อมูลเอกสารให้เป็นไฟล์ดิจิทัล (Intelligence Document Processing : IDP) เป็นระบบแปลงตัวอักษรบนเอกสาร ให้กลายเป็นไฟล์ที่คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้ เช่น การใช้ระบบ IDP สแกนข้อมูลจากบิลกระดาษจำนวนมากและนำเข้าสู่ระบบได้อัตโนมัติ ปัจจุบัน ลูลู่ เทคโนโลยี ให้บริการระบบ IDP สำหรับการอ่านเอกสารมากถึง 140,000 แผ่นต่อวัน
  2. การแปลงเสียงให้เป็นตัวอักษร (Automatic Speech Recognition : ASR) เช่น การแปลงบทสนทนาของเจ้าหน้าที่ Call Center ให้กลายเป็นตัวหนังสือแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ Call Center แต่ละรายมีบทสนทนากับลูกค้าอย่างไร โดยปัจจุบันระบบ ASR มีการใช้งานถึง 200,000 call ต่อวัน
  3. การดึงข้อมูลในโลกออนไลน์มาร่วมประมวลผล เป็นการนำข้อมูลจากเว็บไซต์ ที่เป็นข้อมูลตามสถานการณ์แต่ละช่วงเวลา เข้ามาร่วมในการวิเคราะห์เพื่อให้มีความแม่นยำมากที่สุด

“เมื่อนำ Unstructured Data มาผสานกับ Structured Data ขององค์กร และนำข้อมูลทั้งหมดป้อนให้กับ Generative AI เพื่อประมวลผล โครงสร้างนี้จะช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2567 ของ ลูลู่ เทคโนโลยี นั้น ปริชญ์เผยว่า จะเน้นการทำธุรกิจด้วยโมเดลพาร์ตเนอร์ชิปเป็นหลัก ปัจจุบัน ลูลู่ เทคโนโลยี เป็นพันธมิตรกับ Google, AWS อยู่ระหว่างการเตรียมประกาศความร่วมมือกับ Microsoft และบริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ในประเทศไทยอีก 1 ราย โดยในปี 2567 จะเป็นปีที่มีโปรเจ็กต์ด้าน AI เกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรมเยอะมาก ทำให้มีการตั้ง บริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี สิงคโปร์ เพื่อรับความต้องการจากลูกค้าต่างประเทศเพิ่มเติมด้วย

ส่วน ลูลู่ เทคโนโลยี จะสามารถประสบความสำเร็จ ไปถึงขั้นยูนิคอร์นสตาร์ตอัพได้หรือไม่นั้น ปริชญ์บอกว่า เขาจะพยายามเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนลูลู่ เทคโนโลยี ไปให้ไกลที่สุด ทุกวันนี้เขามักตั้งคำถามกับตัวเองว่า “วันนี้ทำดีที่สุดหรือยัง มีอะไรที่สามารถทำให้ดีมากกว่านี้ได้ไหม?” นั่นเพราะ ปริชญ์ เชื่อมั่นเต็มร้อยว่า “ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากมุ่งมั่น ทุ่มเท และพยายามมากพอ ความสำเร็จจะมาหาเอง”

Related news

เทคโนโลยี AI ยกเครื่อง Telesales ขายประกันผ่านโทรศัพท์ ภายใต้ข้อกำหนด คปภ.

เทคโนโลยี AI แปลงเสียงเป็นข้อความ (Speech-to-Text) ทางรอดธุรกิจประกันยุคดิจิทัล หลังพบร้องเรียนพุ่ง 300 คดี จากปัญหาพนักงานขายบิดเบือนข้อมูล-ให้ข้อมูลไม่ครบ ช่วยตรวจจับผิดแบบเรียลไทม์ ลดเวลาตรวจสอบจากแสนชั่วโมงเหลือ 15 ชั่วโมง/เดือน พร้อมประหยัดต้นทุน 30% สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า-คปภ.

หมอออนไลน์

เจาะ 4 เทคโนโลยีเพื่อเด็ก สำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ ปรึกษาหมอได้ 24 ชม. แม้อยู่ไกลโรงพยาบาล

ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของเด็กไทยกว่า 1 ล้านคน กำลังได้รับการแก้ไขด้วยเทคโนโลยี Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล ที่ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านการแชตและวิดีโอคอล พร้อมระบบติดตามอาการแบบเรียลไทม์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและการเดินทาง ขณะที่แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการผสานเทคโนโลยี AI และระบบติดตามอัตโนมัติ นับเป็นอนาคตใหม่ของวงการแพทย์เด็กที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด

Looloo Health

บางกอก เมดิคอล ซอฟต์แวร์ ใช้ AI “PresScribe” พัฒนาโดย Looloo Health ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ นำร่องในโรงพยาบาล 35 แห่งทั่วประเทศ

บริษัท บางกอก เมดิคอล ซอฟต์แวร์ จำกัด (BMS) ร่วมกับ Looloo Health โดยใช้เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ นำ AI เสริมศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล 35 แห่งทั่วประเทศที่ใช้ระบบ BMS-HOSxP และ BMS-HOSxP XE ด้วยบริการ “PresScribe”