Skip to content Skip to footer

ถกเบื้องหลังบิ๊กเทคแห่ปลดคน จากมุมนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุน AI แทนที่จริง หรือ แพะรับบาป?

เพียงแค่เดือนแรกบิ๊กเทคทุกเจ้าประเดิมปลดคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนถึงขณะนี้มีพนักงานที่ได้รับผลกระทบไปแล้วเกือบ 30,000 คนทั่วโลก ตามรายงานของ Layoffs.fyi แม้สถานการณ์ทั่วโลกจะกลับมาสู่ภาวะปกติหลังการแพร่ระบาด คนกลับมาทำงาน ธุรกิจดำเนินต่อ แต่ทำไมเราเรายังเห็นข่าวปลดคนอย่างต่อเนื่อง 
อ้างถึงคำพูดของ ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอของ Google กล่าวเปิดปีใหม่ด้วยการเตือนพนักงานว่าจะมีการลดตำแหน่งงานมากขึ้นในปีนี้ เพราะหลังจากนี้บริษัทจะหันมาลงทุนที่ AI อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทาง SAP บริษัทซอฟต์แวร์องค์กรสัญชาติเยอรมัน เผยถึงการปลดพนักงานกว่า 8,000 ตำแหน่ง เพื่อหันไปมุ่งเน้นไปที่ AI ซึ่งจะกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในปีนี้เช่นเดียวกัน  
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทเทคโนโลยีมีความชัดเจนมากขึ้นที่จะกล่าวประกาศว่า กลยุทธ์ในปีนี้บริษัทพร้อมมุ่งตรงไปยังสิ่งที่เป็นอนาคต เพื่อสร้างสมดุลของต้นทุนไปจนถึงเงินและความคาดหวังจากนักลงทุนใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ 
ดูเหมือนว่า สิ่งหนึ่งที่ต่างออกไปจากการปลดคนเพื่อลดต้นทุนดำเนินการที่เพิ่มขึ้นมหาศาลจากช่วงโควิดแพร่ระบาด นั่นก็คือ การปลดคนที่มาพร้อมการปลดล็อกขีดความสามารถของธุรกิจ ด้วยการปรับโฟกัสกลยุทธ์ใหม่ โดยเฉพาะการทุ่มเงินไปที่เทคโนโลยี AI ในฐานะ ‘อาวุธ’ เพิ่มความสามารถให้กับธุรกิจ  

จนเกิดข้อถกเถียงว่า AI มาแย่งงานคน ตกลงแล้ว AI เป็นสาเหตุของเรื่องนี้หรือไม่?  

และบริษัทเทคที่เคยเจอมรสุมครั้งใหญ่ ปัจจุบันยังเผชิญมรสุมอยู่จริงหรือ? แล้วคนในวงการเทคโนโลยีมีมุมมองต่อประเด็นนี้อย่างไรกันบ้าง และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับโลกสะท้อนอะไร จะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและธุรกิจในประเทศไทยอย่างไร
ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์แห่งอนาคตและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวกับ Thairath Money ว่า หากพิจารณาจากข่าวสารในตอนนี้หลายคนเข้าใจผิดว่า บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่กำลังประสบปัญหาหนัก จากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่แท้จริงแล้วกลับกันโดยสิ้นเชิง 
ในปี 2562 ถือเป็นยุคทองของบริษัทเทคโนโลยี เพราะคนทั่วโลกกระโดดเข้ามาใช้บริการดิจิทัลมหาศาล เกิดเศรษฐกิจคนติดบ้าน ผู้คนทำทุกอย่างที่บ้านผ่านออนไลน์ ซึ่งตามมาด้วยการเพิ่มขึ้นของ Data และ Digital Footprint จำนวนมาก ต่อเนื่องด้วยการพัฒนาบริการดิจิทัล แอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่เชิญชวนให้เกิดการลงทุน เรียกได้ว่า เป็นยุคของการระดมทุนในภาคเทคโนโลยีอย่างมหาศาล ดันให้มูลค่าในขณะนั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าความจริง และปัจจุบันเมื่อโลกกลับสู่ปกติ ความต้องการด้านดิจิทัลก็ลดน้อยลงตามลำดับ เป็นผลให้บริษัทต้องปรับตัวตามนั่นเอง 
อย่างไรก็ตามคาดว่าตัวเลขการลดคนของบิ๊กเทคจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ดร.สันติธาร มองว่า ส่วนแรก การตัดสินใจของบริษัทมีผลจากเสียงของนักลงทุน ซึ่งมีแนวทางที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ เมื่อก่อนให้ความสำคัญกับการเติบโตของมูลค่าธุรกิจหรือการขยายตลาดอย่างรวดเร็ว แต่ตอนนี้กลับให้ความสำคัญกับความสามารถทำกำไร การลดต้นทุน Cost ต่างๆ 
เราจึงเห็นบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งปรับโฟกัสการลงทุนเลือกที่จะปิดโปรเจกต์เทคโนโลยีที่พัฒนาก่อนหน้านี้ลงและย้ายเงินมาลงทุนที่ AI แทน ไม่ใช่เพราะการเจอสูตรลับที่สามารถนำ AI มาใช้แทนคน เรื่องนี้ยังต้องใช้เวลาอีกนาน 
“บริษัทเทคโนโลยีที่บอกว่ากำลังลดต้นทุน เช่น ลดคนแล้วบอกว่าต้องการกำไรมากขึ้นก็ฟังดูไม่ดี ลดคน เพราะเราขยายมากเกินไปแล้วเราพลาดก็ฟังดูไม่ดี แต่การให้เหตุผลว่า ลดคน เพราะเพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี ดูดีกว่า นักลงทุนชอบ เพราะเทคโนโลยีนั้นกำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรง พอพูดคำว่า AI ราคาหุ้นอะไรต่างๆ ก็พุ่งขึ้นทันที” 

ธุรกิจเตรียมรับมือ อนาคตเทคโนโลยีแทนที่คนจริง หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ด้าน ปริชญ์ รังสิมานนท์ อดีตนักลงทุนกองทุนรัฐบาลสิงคโปร์และผู้ร่วมก่อตั้ง Looloo Technology สตาร์ทอัพด้าน Deep Tech และ AI สัญชาติไทย ให้มุมมองในฐานะนักลงทุนว่า เมื่อจะพิจารณาว่าจะลงทุนกับอะไร ต้องคิดแล้วว่าโลกนี้อะไรที่จะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญ นักลงทุนต้องการลงทุนในสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่ง AI จะเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อชีวิตเราในอนาคตหลังจากนี้ ดังนั้นการที่บริษัทหลายแห่งปรับโฟกัสการลงทุน รวมถึงการลดคนเพื่อทำกำไรเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายบริษัทต้องรับมือกับการบริหารคนในองค์กร การใช้คนยังมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ลาออกบ่อย ต้องมาเทรนใหม่ ต้องมีวันหยุด ต้องลา แต่ AI ไม่มีวันหยุด โดย ปริชญ์ แนะนำว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่องค์กรหรือส่วนงานที่ต้องดูแลการทำงานซ้ำๆ ต้องพัฒนาตัวเอง 
“เราเห็นแล้วว่าธุรกิจทั่วโลกนำ AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจได้อย่างมหาศาล และปัจจุบันต้องมองว่าธุรกิจไม่ได้แข่งขันกันแค่ในประเทศไทยอีกต่อไป สุดท้ายหลายองค์กรต้องมีการผลัดเปลี่ยน ปรับตัวรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราเห็นอะไรบางอย่างแล้วจะอยู่เฉยต่อ เช่น เราเห็นไฟฟ้ามาแล้ว แต่เรายังผลิตเทียน คุณต้องเห็นแล้วว่าหลายๆ อย่างจะมาแทนที่คุณ ดังนั้นเป็นหน้าที่คุณที่จะต้องพัฒนาตัวเอง”  
อย่างไรก็ตามหากมองกลับมาที่ประเทศไทย ด้าน ดร.สันติธาร เห็นด้วยว่า การแทนที่คนด้วยเทคโนโลยีอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยให้มุมมองเสริมว่า ประเด็นนี้กลับเป็นเรื่องที่เราควรศึกษา เพราะบริบทประเทศในตอนนี้กำลังขาดคน ขาดแรงงาน คนวัยแรงงานกำลังลดตัวลงเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เสริมประสิทธิภาพอาจสร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากกว่าที่คิด 

Related news

เทคโนโลยี AI ยกเครื่อง Telesales ขายประกันผ่านโทรศัพท์ ภายใต้ข้อกำหนด คปภ.

เทคโนโลยี AI แปลงเสียงเป็นข้อความ (Speech-to-Text) ทางรอดธุรกิจประกันยุคดิจิทัล หลังพบร้องเรียนพุ่ง 300 คดี จากปัญหาพนักงานขายบิดเบือนข้อมูล-ให้ข้อมูลไม่ครบ ช่วยตรวจจับผิดแบบเรียลไทม์ ลดเวลาตรวจสอบจากแสนชั่วโมงเหลือ 15 ชั่วโมง/เดือน พร้อมประหยัดต้นทุน 30% สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า-คปภ.

หมอออนไลน์

เจาะ 4 เทคโนโลยีเพื่อเด็ก สำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ ปรึกษาหมอได้ 24 ชม. แม้อยู่ไกลโรงพยาบาล

ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของเด็กไทยกว่า 1 ล้านคน กำลังได้รับการแก้ไขด้วยเทคโนโลยี Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล ที่ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านการแชตและวิดีโอคอล พร้อมระบบติดตามอาการแบบเรียลไทม์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและการเดินทาง ขณะที่แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการผสานเทคโนโลยี AI และระบบติดตามอัตโนมัติ นับเป็นอนาคตใหม่ของวงการแพทย์เด็กที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด

Looloo Health

บางกอก เมดิคอล ซอฟต์แวร์ ใช้ AI “PresScribe” พัฒนาโดย Looloo Health ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ นำร่องในโรงพยาบาล 35 แห่งทั่วประเทศ

บริษัท บางกอก เมดิคอล ซอฟต์แวร์ จำกัด (BMS) ร่วมกับ Looloo Health โดยใช้เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ นำ AI เสริมศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล 35 แห่งทั่วประเทศที่ใช้ระบบ BMS-HOSxP และ BMS-HOSxP XE ด้วยบริการ “PresScribe”