Skip to content Skip to footer

AI ทางการแพทย์บนเวที World Economic Forum 2024

หนึ่งในความท้าทายทางการแพทย์ยุคปัจจุบัน คือแต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่างมุ่งมั่นพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของผู้คนให้ดีกว่าเดิม ท่ามกลางปัญหารุมเร้ารอบด้าน ทั้งจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นปัญหาหลัก บ่อยครั้งที่ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขต้องแบกรับภาระงานที่หนักอึ้ง อย่างการบริหารงานและการตัดสินใจที่ซับซ้อนในวิชาชีพ ส่งผลให้มีเวลาจำกัดสำหรับการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพยังคงเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด

ด้วยปัจจัยที่บีบรัดเข้ามาจากหลาย ๆ ด้าน เทคโนโลยีจึงเข้ามาเป็น Solutions สำคัญ ในการช่วยจัดการปัญหาต่าง ๆ ให้เบาบางลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามาปฏิวัติวงการแพทย์ได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย ลดความผิดพลาดในการวินิจฉัยโรค ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคในอนาคต รวมถึงช่วยให้ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยถูกลงในการดูแลสุขภาพ ให้ทุกคนเข้าถึงการแพทย์ที่ดีได้ง่ายขึ้น

ความท้าทายทางการแพทย์ที่แก้ไขได้ด้วย AI 

แน่นอนว่าในเวทีประชุม World Economic Forum 2024 ที่ผ่านมา นักวิชาการระดับโลก ผู้นำองค์กรต่าง ๆ ทางการแพทย์ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับ AI ในการแพทย์อย่างกว้างขวาง มาดูกันว่าแต่ละประเทศมี Use case อะไรน่าสนใจบ้าง ถึงตอนนี้ AI ยกระดับการแพทย์โลกไปได้ไกลแค่ไหน?

1. AI ช่วยเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์โรค

      • AI ตรวจหามะเร็งได้ภายใน 0.02 วินาที

    สถาบันวิจัยมะเร็ง (Institute of Cancer Research) ของกองทุนมูลนิธิรอยัลมาร์สเดน เอ็นเอชเอส (Royal Marsden NHS Foundation Trust) แห่งสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่า “AI ช่วยตรวจชิ้นเนื้อและวิเคราะห์ถึงการลุกลามของมะเร็งบางชนิดได้แม่นยำเกือบสองเท่า” แน่นอนว่าการวิเคราะห์ที่ตรงจุด ย่อมส่งผลให้เกิดการรักษาที่แตกต่างกัน และท้ายที่สุดคือการช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น

    ขณะเดียวกันบริษัท AI Medical Services (AIM) สตาร์ตอัปสัญชาติญี่ปุ่น ได้ผลิตกล้องเอนโดสโคป (Endoscope) ตรวจหามะเร็งระยะแรก ด้วยการใช้ AI วิเคราะห์วิดีโอและภาพถ่ายจากการส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ของผู้ป่วย เพื่อระบุแนวโน้มมะเร็งในอนาคต โดย AI Model นี้ได้รับการเทรนด้วยวิดีโอความละเอียดสูงกว่า 200,000 รูป รวบรวมจากสถาบันทางการแพทย์กว่า 100 แห่งทั่วญี่ปุ่น

    ที่สำคัญความเจ๋งของ AI ดังกล่าวนี้ ยังสามารถวิเคราะห์ภาพนิ่งและวิดีโอได้แบบเรียลไทม์เพียง 0.02 วินาที! เร็วกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่แล้วใช้เวลาเฉลี่ย 4 วินาที นอกจากนี้ปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวยังสามารถระบุได้ถึงการมีและไม่มีเชื้อมะเร็งหรือได้อีกด้วย โดยความแม่นยำสูงสุดอยู่ที่ 94 %

    ถึงแม้ความแม่นยำของ AI จะเป็นเลิศแค่ไหน แต่การวินิจฉัยขั้นสุดท้ายยังคงเป็นความรับผิดชอบของแพทย์ที่เป็นมนุษย์ การเข้ามาของเทคโนโลยีหรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นเพียงการทำงานร่วมกันของมนุษย์และ AI เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น

        • AI ช่วยวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่

      นอกจากกล้อง Endoscope ที่ใช้ AI หาสัญญาณมะเร็งแล้ว การแพทย์ของญี่ปุ่นยังใช้ AI ตรวจหาโรคไข้หวัดใหญ่ ด้วยการให้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ข้อมูลจากภาพลำคอกว่า 500,000 ภาพ ประกอบกับการซักถามอาการของคนไข้เพื่อใช้ในการวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไม่ (เชื้อไข้หวัดใหญ่มักพบตามลำคอ)

      นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ประมวลผลด้วย AI อย่าง Nodoca ช่วยวิเคราะห์ลำคอ เช็กอุณหภูมิร่างกายร่วมกับอาการของผู้ป่วย เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ไหม โดยผลลัพธ์ที่ได้จบครบภายในไม่กี่วินาที ที่สำคัญคนไข้ไม่ต้องเจ็บตัว เพราะการตรวจด้วยวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องเก็บตัวอย่างจากช่องจมูกผู้ป่วยเหมือนแบบเดิม

         

          • AI ช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจ

         เครื่องตรวจโรคหัวใจอัจฉริยะ “Super Stethoscope” ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แปลงเสียงหัวใจและคลื่นไฟฟ้าให้เป็นระบบดิจิทัล เพียงวางเครื่องนี้บริเวณหน้าอกค้างไว้ 10 วินาที เครื่องจะส่งข้อมูลเข้ามายังระบบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจหรือไม่ โดยเจ้าเครื่องนี้คนไข้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถตรวจได้เองจากที่บ้านได้เลย สะดวกตรงที่ไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายมาถึงโรงพยาบาล ตอบโจทย์สำหรับการรักษาพยาบาลออนไลน์ในยุคนี้

        2. AI ทำนายความเสี่ยงของโรคในอนาคต

        ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ควบคุมไม่ได้ ส่งผลให้การวินิจฉัยในบางครั้งคลาดเคลื่อนไปบ้าง AI จึงเข้ามาเป็นเครื่องมืออุดรอยรั่วดังกล่าว ด้วยการวิเคราะห์ความเสี่ยงของโรคที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงคาดเดาแนวโน้มที่คน ๆ นั้นจะประสบอุบัติเหตุบางประการได้ ผ่านการทำนายทางเชิงวิทยาศาสตร์จากข้อมูลผู้ป่วย

        ไม่ว่าจะเป็น ประวัติการรักษาทางการแพทย์ ตัวชี้วัดทางพันธุกรรม และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ซึ่ง Data เหล่านี้สามารถสร้างเป็นโปรไฟล์ความเสี่ยงเฉพาะบุคคล เพื่อให้แพทย์วิเคราะห์แบบรายบุคลได้ว่าใครมีความเสี่ยงใดด้านไหน แล้วค่อยแนะนำวิธีการป้องกันหรือพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพและลดการเกิดโรคในอนาคตได้

        3. ประหยัดเวลากับงานเอกสารทางการแพทย์ด้วย AI

        วงการแพทย์ของยุโรปมีการประมาณกันว่า แพทย์ใช้เวลาทำงาน 50-50 แบ่งเป็นรักษาผู้ป่วยและงานธุรการอย่างละครึ่ง ดังนั้น การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการจัดการงานเอกสารจึงเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างการเขียนจดหมาย สรุปการประชุม เขียนร่างวิจัย เขียนรายงาน ฯลฯ การได้ AI มาช่วยแบ่งเบาภาระงานส่วนนี้ จะเพิ่มเวลาให้บุคลากรทางการแพทย์เอาใจใส่ผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจากรายงานคาดการณ์ว่าแพทย์จะใช้เวลากับผู้ป่วยได้มากขึ้นเกือบ 20 % ส่วนพยาบาลจะใช้เวลากับผู้ป่วยได้ราว 8 % หากภาระงานธุรการบางส่วนลดลง

        4. AI ช่วยให้การพัฒนายาเร็วขึ้น

        นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต  (University of Toronto – U of T) ได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างโปรตีนที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติโดยใช้การแพร่กระจายแบบกำเนิด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่อยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์มการสร้างภาพ AI ยอดนิยม เช่น Midjourney และ DALL-E ของ OpenAI ช่วยให้การพัฒนายามีประสิทธิภาพ มีความเป็นไปได้และยืดหยุ่นมากขึ้น

        นอกจากนี้ AI ยังทำหน้านี้เป็น Key ลัดทำให้การคิดค้นและพัฒนายาเป็นไปอย่างรวดเร็ว จากการวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับโมเลกุลต่าง ๆ เพื่อคาดการณ์ถึงประสิทธิภาพของตัวยา รวมถึงมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และความปลอดภัยในการใช้ยาไปจนถึงกำหนดเป้าหมายของใหม่ของยาชนิดนั้น

        5. AI ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานในโรงพยาบาล

        อีกหนึ่งต้นทุน Fix Cost ทางการแพทย์ที่ไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคและพลังงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทำความร้อน เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ AI สามารถเข้ามาช่วยจัดการและวางแผนการใช้พลังงานทั้งหมดนั้นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์ควบคุมพลังงานทั่วอาคาร เพื่อหาค่าเหมาะสมในการใช้พลังงาน

        ยิ่งเทรนระบบ AI ให้ครอบคลุมมากเท่าไร ระบบก็จะยิ่งเรียนรู้และตัดสินใจล่วงหน้าได้ดี สุดท้ายแล้วอาจจะพบว่าบางพื้นที่เครื่องปรับอากาศไม่ได้จำเป็น เพราะเป็นมุมที่ลมถ่ายเทเย็นสบาย การปรับอะไรเล็ก ๆ น้อยๆ แบบนี้จะช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานได้ ในระยะยาวหากลดสิ่งเหล่านี้ได้อย่างสมดุล จะช่วยให้โรงพยาบาลของคุณลดค่าใช้จ่ายไปได้ 20%

        การเติบโตทางการลงทุนของ AI ในวงการแพทย์

        การประชุม World Economic Forum 2024 ครั้งนี้ ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า การลงทุนด้าน AI ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพทั่วโลก จะทำมูลค่าได้ถึง 188 billion U.S. dollar ภายในปี 2573 โดยอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 37% ตั้งแต่ปี 2565-2573 เนื่องด้วยมาจากสองปัญหาหลัก ได้แก่

            1. การขาดแคลนแพทย์ พยาบาลเกือบ 10 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2573
            2. วิกฤติประชากรสูงวัยล้นโลก (Aged Society) ทั่วโลก

          1.  

          นอกจากนี้รายงาน Artificial intelligence Report ของ Stanford ปี 2023 ยังตอกย้ำความปังของให้ AI ว้าวกว่าเดิม โดยระบุว่าปัญญาประดิษฐ์ในด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนมากที่สุดในปี 2022 ด้วยตัวเลข 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีขนาดใหญ่กำลังเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพมากขึ้น

          AI กับจริยธรรมทางการแพทย์

          ท็อปปิกนี้เชื่อว่ายังคงถกเถียงกันอยู่ทุกวงการที่นำ AI ไปใช้ ทางการแพทย์เองก็เช่นกัน มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ ด้วยการพยายามพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม สังเกตได้ว่าหลาย ๆ องค์กรเริ่มออกแนวปฏิบัติการใช้ AI อย่างถูกต้อง ปลอดภัย เชื่อถือได้ เท่าเทียมและมีจริยธรรม

          อย่างเมื่อเดือนตุลาคมปี 2023 องค์การอนามัยโลกได้แนะนำแนวปฏิบัติใหม่ สำหรับการใช้ AI ให้เป็นไปอย่างมีจริยธรรม และไม่ลิดรอนสิทธิมนุษยชน

              • รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดตัวโครงการโรงพยาบาล AI 10 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเน้นเรื่องการสร้างฐานข้อมูลข้อมูลทางการแพทย์ที่ปลอดภัยสูง รวมถึงการเก็บข้อมูลทางเวชระเบียนที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย รวมถึงใช้ระบบ AI จดจำเสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าถึงข้อมูล – เงินลงทุนโครงการนี้กว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

              • Mayo Clinic ศูนย์การแพทย์เพื่อประโยชน์ทางวิชาการไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐ เปิดตัวแพลตฟอร์ม Validate มุ่งเน้นการทำรายงานอคติ ความจำเพาะ และความไวสำหรับโมเดลเกี่ยวกับ AI เพื่อให้นักพัฒนา หรือบุคคลที่นำไปใช้ต่ออย่างบุคลากรทางการแพทย์ มั่นใจได้ว่า Model นี้มีความแม่นยำ เป็นกลาง ถูกต้องและไม่ลำเอียง

                • สถาบันการแพทย์แห่งชาติแห่งสหรัฐอเมริกา พยายามสร้างกรอบการทำงานเพื่อให้แน่ใจว่า AI ที่ใช้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การแพทย์และวิทยาศาสตร์ ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย เชื่อถือได้ เสมอภาค รวมถึงมีจริยธรรมในการให้บริการ

              ขณะที่ทั่วโลกกำลังวางกรอบให้การใช้ AI เป็นไปอย่างมีจริยธรรม สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ AI คือเครื่องมือสำคัญทางเทคโนโลยีที่ช่วยลดช่องว่างทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ให้มีความเป็นไปได้อย่างไร้ข้อกังขา ด้วยการคงหัวใจหลักทางการแพทย์ไว้เหมือนเดิม คือความพยายามระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน ที่หวังให้สุขภาพของทุกคนบนโลกดีขึ้น

              บทสรุป AI ทางการแพทย์ 

              ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อได้เปรียบที่ยอดเยี่ยมของ AI คือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ตั้งแต่การวิจัยขั้นพื้นฐาน การทำเอกสาร การหาแนวโน้มของโรค ไปจนถึงการพัฒนายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงในการปฏิบัติงานทางคลินิกในชีวิตประจำวัน หากมนุษย์ใช้อย่างถูกต้อง AI ย่อมสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างหาศาลตลอดห่วงโซ่ ทั้งคุณค่าในเรื่องการดูแลสุขภาพคนไข้ได้ดีขึ้นและเม็ดเงินทางเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู

              ทว่าการนำ AI เข้าสู่ระบบสุขภาพให้สำเร็จได้นั้น จำต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องหลายด้านในสังคม ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ นักการเมือง นักพัฒนาเทคโนโลยี และผู้ป่วย เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างรอบด้าน พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของคนจำนวนมาก และทุกครั้งที่ใช้ AI จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบอย่างรอบคอบอยู่เสมอ

              Reference
              https://www.weforum.org/agenda/2024/01/healthcare-ai/            https://www.weforum.org/agenda/2023/12/three-ai-tools-setting-the-stage-for-a-tech-revolution-by-japans-entrepreneurial-doctors/
              https://www.weforum.org/agenda/2022/10/ai-in-healthcare-india-trillion-dollar/      https://www.weforum.org/agenda/2024/01/whats-the-state-of-health-and-healthcare-heres-what-we-learned-in-davos/

              Related news

              จับตา 4 เทรนด์ AI มาแรงแห่งปี 2024

              เชื่อว่าตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา หลาย ๆ คนคงได้ยินคำว่า AI แบบนับครั้งไม่ถ้วน คุ้นเคยมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป เพราะด้วยกระแส AI ที่บูมขึ้น จากทั่วสารทิศแทบทุกมุมโลก

              “The future is AI” World Economic Forum 2024

              จบลงไปแล้วกับ World Economic Forum 2024 (WEF 2024) งานประชุมทางเศรษฐกิจระดับโลก ที่รวมเอาผู้นำระดับประเทศ ผู้บริหารภาคเอกชนและนักวิชาการ ราว 2,500 คนจากทั่วโลก มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและทิศทางของเศรษฐกิจโลกในปี 2024

              จับทิศทางเทคโนโลยีเอไอโลกและประเทศไทยในปี 2024

              แนวโน้มของ AI หรือเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ ในปี 2024 จากการแข่งขันพัฒนาโมเดล LLM ขนาดใหญ่ หลังจากนี้มีโอกาสที่หน่วยงานและภาคธุรกิจต่างๆจะหันมาพัฒนาเอไอของตัวเอง มาฟังมุมมองจากสตาร์ทอัพสัญชาติไทยผู้พัฒนาเอไอให้กับองค์กรต่างๆอย่าง ลูลู่เทคโนโลยี