Skip to content Skip to footer

คุยกับ “คิม – สหพัฒณ์ ล้ำสมบัติ” เรื่อง AI OCR เมื่อการมาของเทคโนโลยี เปลี่ยนโลกใบนี้จนเกินจินตนาการ

WordSense AI

ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยมีหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักคือ “เทคโนโลยี” ที่ได้รับการพัฒนาให้เก่งขึ้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์มากเข้าทุกวัน และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นนั้น ก็รังสรรค์ให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่มากมาย กลายเป็นที่พึ่งและหนทางแก้ปัญหาใหม่ที่ช่วยให้มนุษย์รู้สึกอุ่นใจ ทว่าในทางกลับกัน ยิ่งเทคโนโลยีเก่งกาจและมีบทบาทมากขึ้นเท่าไร ความมั่นใจของมนุษย์ก็ถูกสั่นคลอนด้วยความรู้สึก “ถูกแทนที่” มากเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในความสามารถที่มนุษย์มั่นใจนักหนา เช่น “การอ่านลายมือของคน” ด้วยศักยภาพที่ไม่ธรรมดาเลย

Creative Thailand จึงขอพาทุกคนมาเจาะลึกเรื่อง “เทคโนโลยี AI OCR” หรือการเปลี่ยนข้อความที่อยู่ในรูปหรือไฟล์สแกนภาพให้เป็นข้อความที่เป็นตัวอักษรหรือตัวพิมพ์ อีกหนึ่งเทคโนโลยีสำคัญที่เข้ามาสั่นเก้าอี้ความมั่นใจของใครหลายคน ผ่านการพูดคุยกับ “คิม – สหพัฒณ์ ล้ำสมบัติ” CEO ของบริษัท เวิร์ดเซนส์ จำกัด (WordSense) บริษัทสตาร์ตอัปภายใต้การดูแลของบริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี OCR เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ พร้อมทั้งอัปเดตแนวโน้มของโลกยุค AI ที่ใคร ๆ ต่างก็ต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัว

WordSense AI

คิม – สหพัฒณ์ ล้ำสมบัติ CEO ของบริษัท เวิร์ดเซนส์ จำกัด (WordSense)

ทำความรู้จักเทคโนโลยี OCR

OCR หรือ Optical Character Recognition คือเทคโนโลยี AI ชนิดหนึ่ง ที่มีบทบาทในการช่วยแปลงตัวอักษรหรือลายมือที่อยู่ในรูปภาพหรือเอกสารใด ๆ ให้กลายเป็นก้อนข้อความดิจิทัลที่ระบบคอมพิวเตอร์สามารถจัดเก็บได้อย่างเป็นระบบและแก้ไขได้เหมือนข้อความที่พิมพ์ด้วยคีย์บอร์ด โดยคุณคิมได้อธิบายหลักการทำงานเบื้องต้นว่า ในขั้นตอนแรก OCR จะทำการดูภาพรวมของเอกสารนั้นทั้งหมด จากนั้นจึงจะหาตัวอักษรด้วยการดูความแตกต่างระหว่างพิกเซล หาความตัดกันระหว่างสีอักษรกับสีพื้นหลัง เทียบประกอบไปกับข้อมูลรูปแบบฟอนต์ที่มีอยู่ในระบบ ระบุออกมาเป็นตัวอักษรที่ถูกต้อง แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการแปลงข้อมูล ออกมาเป็นข้อความดิจิทัลที่จัดเก็บได้นั่นเอง

เทคโนโลยี OCR แท้จริงแล้วมีบทบาทอยู่ในสังคมมากว่า 10 ปี และอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้ OCR ในยุคนี้น่าตื่นเต้นกว่ายุคไหน ๆ คงอยู่ที่การพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดจนยุคของ AI ได้มาถึงอย่างแท้จริง ทั้งการเกิดขึ้นของ Generative AI รวมถึงตัวการ์ดจอที่แรงและเร็วขึ้น ทำให้การป้อนข้อมูลเข้า AI เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ทั้งย่นระยะการเรียนรู้ของ AI จากหลักปีเป็นหลักวัน ทำให้ผลลัพธ์ของ AI ที่ได้ยิ่งแม่นยำขึ้น และส่งผลให้ช่วงสองปีมานี้มีองค์กรต่าง ๆ หันมาใช้ OCR ในการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นด้วย

จาก OCR สู่ OCR Handwriting ก้าวต่อไปที่มาพร้อมความยาก 20 เท่า


OCR เริ่มแรกมีศักยภาพในการอ่านเฉพาะตัวพิมพ์เท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็ได้รับการพัฒนาสู่ “OCR Handwriting” ที่เกิดขึ้นเพื่ออ่านและแปลงลายมือของแต่ละคนให้กลายเป็นข้อความดิจิทัลได้ ซึ่งคุณคิมถึงกับเอ่ยปากเลยว่า สิ่งนี้ยากกว่าเดิมถึง 20 เท่า เพราะในขณะที่ตัวพิมพ์มีรูปแบบของฟอนต์ที่จำกัด และยังเขียนยู่ในกรอบบรรทัดอย่างเป็นระเบียบ ลายมือของคนกลับไม่มีขีดจำกัด คาดเดาไม่ได้ อีกทั้งเมื่อเป็นภาษาไทย ก็ยิ่งยากกว่าภาษาอังกฤษเข้าไปใหญ่ เพราะมีทั้งเรื่องตัวอักษรที่เขียนใกล้เคียงกันมาก ไหนจะเรื่องของสระและวรรณยุกต์ ที่มาพร้อมปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สระลอย สระซ้อนวรรณยุกต์ รวมไปถึงปัญหาที่สระจากบรรทัดบนชนกับวรรณยุกต์บรรทัดล่างก็ด้วย

“เคสที่เจอบ่อย ในกรณีที่เขียนมาหลายบรรทัด สมมติเขียนคำว่า ‘ค้ำ’ อยู่บรรทัดสองแล้วไม้โทไปชนกับสระอูของบรรทัดหนึ่ง ก็ต้องให้ AI รับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความยากของการพัฒนา OCR Handwriting ให้มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง ยังรวมถึงเรื่องของข้อมูลลายมือที่ใช้ในการฝึก AI ที่หาได้ยาก แต่ WordSense ก็มีวิธีแก้ปัญหาที่เหนือชั้น นั่นคือการสร้าง AI ขึ้นมาอีกหนึ่งตัวที่มีความสามารถในการเขียนลายมือภาษาไทย แล้วฝึกฝนให้มันผลิตลายมือหลากหลายรูปแบบจากการเรียนรู้ฐานข้อมูลลายมือคนไทยที่มีอยู่ จนสามารถเพิ่มข้อมูลลายมือขึ้นมาได้จำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ WordSense กลายเป็นบริษัทเจ้าเดียวของตลาดที่สามารถอ่านลายมือภาษาไทยได้แม่นยำเฉลี่ยเกิน 90% ยิ่งหากเป็น AI OCR ของบริษัทเอง ความแม่นยำก็จะยิ่งมากขึ้น

AI อ่านภาษาไทย

Wordsense กับการพัฒนา AI OCR ภาษาไทยให้แม่น เฉียบ ฉลาด เกินบรรยาย


จุดเริ่มต้นของ OCR Handwriting เกิดขึ้นมาด้วยพันธกิจของเจ้าของบริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด ทั้งสามคนที่ต้องการทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำได้ ประจวบกับที่มีบริษัทโลจิสติกส์แห่งหนึ่งได้ให้โจทย์กับทางบริษัทมาว่า “ต้องการ AI อ่านลายมือจ่าหน้าซองพัสดุภาษาไทยได้” ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างและพัฒนาโปรเจ็กต์ OCR Handwriting ภาษาไทยเรื่อยมา โดยระหว่างทางก็มีการพยายามแก้ปัญหาที่พบ อย่างเช่น เรื่องของจำนวนข้อมูลลายมือที่ได้กล่าวไป

ความแตกต่างที่ทำให้เทคโนโลยี OCR Handwriting ของ WordSense โดดเด่นกว่าเจ้าอื่น ๆ นั่นคือ “การอ่านแบบดูบริบท”

แต่เมื่อแก้ปัญหาเรื่องจำนวนข้อมูลได้แล้ว ประเด็นสำคัญถัดมาก็คือ ทำอย่างไรการแปลงข้อมูลถึงจะมีความแม่นยำมากขึ้น? ซึ่งในส่วนนี้ คุณคิมก็ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างที่ทำให้เทคโนโลยี OCR Handwriting ของ WordSense โดดเด่นกว่าเจ้าอื่น ๆ นั่นคือ “การอ่านแบบดูบริบท” กล่าวคือ OCR จะทำการประเมินรูปประโยครอบข้างเพื่อแปลงคำออกมาได้ถูกต้องมากขึ้นด้วย “สมมติ เราเจอคำว่า ‘ปากา’ ก็คงอ่านว่าปากกา เพราะเราคุ้นชินกับคำว่าปากกา ถ้า OCR อ่านแบบดูอย่างเดียว มีโอกาสสูงมากที่จะอ่านผิด แต่ถ้าอ่านแบบดูบริบท มันก็จะแปลงเป็นคำว่าปากกาออกมา” การนำเทคโนโลยี OCR เข้ามาใช้ในแง่นี้ จึงไม่เพียงเป็นผู้ช่วยในการแปลงข้อมูล แต่ยังเป็นผู้ช่วยของมนุษย์ในการตรวจทานและแก้ไขคำให้ถูกต้อง ทั้งการอ่านลักษณะนี้ยังช่วยให้ OCR สามารถอ่านลายมือที่หลายคนเรียกกันว่า “ลายมือไก่เขี่ย” ได้ หากอยู่ในระดับที่มีตัวอักษรบางตัวที่ OCR สามารถแกะได้ หรือมีคำข้างหน้าที่พอจะอ่านออก เป็นต้น

ทว่าการอ่านแบบดูบริบทก็ยังมีจุดอ่อนที่เห็นได้ชัด ซึ่งก็คือการอ่านคำเฉพาะ จำพวกชื่อคนที่สะกดหลากหลาย “OCR ที่ใช้อ่านจริง ๆ จึงมีประมาณ 5 ตัวที่ต้องทำงานเป็นทีม ถ้าเป็นข้อมูลประเภทนี้จะใช้อีกตัวหนึ่ง ถ้าเอาแบบแอดวานซ์สุด ๆ จะเป็น OCR ที่สามารถรู้ได้เลยว่าที่อยู่อันนี้ที่เขียนมา เป็นที่อยู่ที่ผิดหรือเปล่า เช่น เขตสาทร จังหวัดเชียงใหม่ มันจะแก้ให้ จากการดูแขวง เขต ถ้าตรงก็จะแก้ชื่อจังหวัดให้” คุณคิมกล่าว

อีกปัญหาหนึ่งที่ WordSense สามารถทลายขีดจำกัดได้ล่าสุดคือ การจัดการกับเอกสารประเภท Semi Structure เช่น ใบเสร็จ ใบแจ้งหนี้ ที่มักจะมีรูปแบบที่ต่างกันตามแต่ละบริษัท ทำให้การอ่านและแปลงข้อมูลเพื่อจัดเก็บมีความซับซ้อนกว่าเอกสารที่มีรูปแบบกำหนดแน่นอน เพื่อแก้ปัญหาการอ่านเอกสารประเภทนี้ Wordsense จึงพัฒนา OCR ที่สามารถดึงข้อมูลเดิม ๆ ออกมาจากเอกสารที่หน้าตาไม่เคยเหมือนเดิมได้ กลายเป็นอีกจุดเด่นจาก OCR ของ WordSense เช่นกัน

ทั้งนี้ ปัญหาบางอย่างก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น “ลายมือหมอ” ที่คุณคิมออกปากเลยว่าแกะได้ยากกว่าลายมือไก่เขี่ยเสียอีก ด้วยความท้าทายที่แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก หนึ่งคือ ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของลายมือหมอ ทำให้ต้องสร้าง OCR สำหรับการอ่านลายมือหมอโดยเฉพาะ ขณะเดียวกัน การเขียนของแพทย์โดยมากมักจะเป็นการเขียนตัวย่อให้เห็นแค่บางตัวอักษรเท่านั้น ซึ่ง OCR จำเป็นที่จะต้องอ่าน ดูบริบทข้างเคียง แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปค้นหาสารานุกรมเพื่อแปลงออกมาเป็นคำที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น OCR จึงจำเป็นจะต้องรู้ศัพท์เทคนิคของแพทย์ให้ได้ครอบคุลมด้วย

ข้อจำกัดเดียวของ OCR ที่ไม่อาจเอาชนะได้ด้วยการพัฒนาต่อยอด อยู่ที่การอ่านลายมือหรือเอกสารที่แม้แต่มนุษย์ก็ยังแกะไม่ออก เช่น ข้อความที่มีหมึกเปื้อน มีการขีดฆ่าหรือฝนทับ เอกสารที่เกิดการฉีกขาด ชำรุด จนเสียหายหนักจริง ๆ รวมไปถึงลายเซ็น เพราะสุดท้ายแล้วเทคโนโลยีนี้ก็มองเอกสารเหมือนกับที่มนุษย์ใช้ตามอง หากเรายังอ่านไม่ออก ก็คงยากสำหรับเทคโนโลยี โดยในปัจจุบัน OCR ยังมีสถานะเสมือน “ผู้ช่วย” ของมนุษย์อยู่ เพราะฉะนั้นหากถามว่า คนยังจำเป็นไหมในสมการนี้ ก็อาจจะมีบางครั้งเช่นกันที่ OCR จะคัดเอกสารที่ไม่มั่นใจให้มนุษย์ช่วยอ่านและลงความเห็นที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ดี ความพยายามพัฒนาเทคโนโลยี OCR ของ WordSense จนถึงทุกวันนี้ ทำให้ตัว OCR มีความแม่นยำสูงมาก หากเป็นตัวพิมพ์ค่าตั้งต้นจะอยู่ที่ 95% ขณะที่ตัวอ่านลายมือมีความแม่นยำตั้งต้นอยู่ที่ 92% ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความซับซ้อนของเอกสาร ที่มีผลต่อความแม่นยำ ซึ่งก็จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เทคโนโลยีนี้มีศักยภาพมากขึ้น อ่านได้แม่นยำขึ้น ในปริมาณที่มากขึ้นต่อไป

ประโยชน์ของเทคโนโลยี AI OCR ที่หลายคนอาจเคยสัมผัสไม่รู้ตัว


เทคโนโลยี AI OCR ในปัจจุบันนี้เข้ามาช่วยให้งานนำเข้าข้อมูลสู่ระบบที่เคยใช้คนทำเป็นไปอย่างอัตโนมัติ พร้อมทั้งช่วยให้กระบวนการเสร็จไวขึ้น แม่นยำขึ้น โดยมีลูกค้า 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มธนาคารและกลุ่มประกันภัย ที่จำเป็นต้องจัดเก็บเอกสารที่ผู้ใช้บริการกรอกแบบฟอร์มกระดาษตามระเบียบ ทำให้ที่ผ่านมาต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ ขณะที่ประโยชน์อีกข้ออยู่ที่การเสริมศักยภาพในการขยับขยายของบริษัท กล่าวคือ หากในอนาคตบริษัทเติบโต ขยายกิจการจากเดิม การจ้างงานคนเพื่อทำหน้าที่กรอกเอกสารแบบเดียวกันเพิ่มขึ้น อาจไม่ใช่คำตอบที่คุ้มค่าอีกต่อไป เมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยี OCR ที่สามารถปรับแก้ ขยับขยายตามกิจการที่เติบโตขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุนมากเท่าการจ้างคน

นอกจากประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจแล้ว เทคโนโลยี OCR ยังมีบทบาทในการอำนายความสะดวกให้กับผู้คนในชีวิตประจำวันด้วย ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การนำโทรศัพท์สมาร์ตโฟนสแกนบัตรประชาชนเพื่อลงทะเบียนแอปฯ แล้วข้อมูลทุกอย่างปรากฏในช่องครบถ้วนภายในเวลาไม่กี่วินาที หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น “ขุนทอง” แชตบอตช่วยหารค่าข้าว ก็มีฟังก์ชันสำหรับการถ่ายหน้าใบเสร็จ เพื่อแจกแจงรายการและยอดต่าง ๆ ออกมาโดยที่ไม่ต้องพิมพ์ทีละรายการ เรียกได้ว่าเทคโนโลยี OCR ช่วยประหยัดเวลา และป้องกันการป้อนข้อมูลผิดพลาดทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

OCR อ่านเอกสาร

ตัวอย่าง Demo OCR อ่านบัตรประจำตัวประชาชนของ WordSense

OCR ในฐานะ “ประตูสู่ยุค AI”


ยิ่งไปกว่านั้น คุณคิมยังมองเห็นว่าสำหรับโลกที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค AI เต็มตัว เทคโนโลยี OCR ก็เปรียบเสมือนกับ “ประตูบานแรก” ของทุกบริษัทในการจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและก้าวเข้าสู่ยุค AI ไปพร้อมโลกเช่นกัน

“การที่เราจะบอกว่าบริษัทเข้าสู่ยุคของ AI ได้ หมายความว่าบริษัทจะต้องมี AI ของตัวเองที่ทำงานง่าย ๆ ในบริษัทได้หมดแล้ว ซึ่งการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ บริษัทจะต้องสร้าง AI ด้วยข้อมูลของตัวเองก่อน และการที่บริษัทจะสามารถนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ (Data Analysis) หรือเอามาฝึกฝน AI ได้ ข้อมูลนั้น ๆ ก็จะต้องอยู่ในรูปแบบที่พร้อม ซึ่งก็คืออยู่ในรูปแบบดิจิทัล ดังนั้น OCR เลยทำหน้าที่เปิดประตูบานแรก ประมาณว่าเดี๋ยวฉันจะเตรียมข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ในรูปแบบกระดาษ มาเป็นข้อมูลที่จะนำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อให้

ดังนี้ แม้ฟังก์ชันของ OCR ในบริบทข้างต้นจะดูเป็นบทบาทพื้น ๆ ไม่สลับซับซ้อนเหมือนเครื่องมือ AI ตัวอื่น ๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์หรือประเมินผล แต่นี่ก็นับเป็นอีกพื้นฐานสำคัญสำหรับการต่อยอดในขั้นตอนต่อ ๆ ไป เรียกได้ว่าหากบริษัทใดต้องการเข้าสู่ยุค AI อย่างเต็มกำลัง OCR ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลย และนี่ก็แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตของเทคโนโลยีดังกล่าวที่น่าจะมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นในสังคม

แล้วเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อรับมือกับโลกยุค AI ที่ทั้งหมุนไวและไม่มีใครเคยเผชิญมาก่อน “เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้มัน” คือคำตอบเดียวที่หนักแน่น จาก CEO ของ WordSense

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี การเตรียมพร้อมที่ดีที่สุดคือ “ต้องเรียนรู้ที่จะใช้มัน”

“มันน่าตื่นเต้นมาก ๆ ตรงที่ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาของ AI คูณขึ้นมาเป็นร้อยเท่าพันเท่า หมายความว่าในอนาคตเราจะเจอสิ่งที่ว้าวสุด ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น” คุณคิมกล่าว พร้อมพาเราย้อนกลับไปถึงความน่าตื่นเต้นยุคแรกตั้งแต่การเกิดขึ้นของเครื่องจักรไอน้ำในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ต่อมาก็เป็นการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ ตามมาด้วยการเกิดขึ้นของสมาร์ตโฟน โซเชียลมีเดีย และล่าสุดคือ ChatGPT ที่หลายคนต้องตาลุกวาว

“เริ่มเห็นหรือเปล่าว่า ความตื่นเต้นในแต่ละจุด มันเริ่มเกิดถี่ขึ้น แต่ก่อน 10 ปีเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ตอนนี้เกิดขึ้นปีละครั้ง แปลว่าในอนาคต ถ้าหากยังเป็นเทรนด์แบบนี้ต่อไป ซึ่งผมคิดว่ามันจะเกิดขึ้นทุกเดือน มันจะมีความว้าว มันจะมีอะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตเราสามารถทำอะไรได้มากกว่าเดิมเยอะมาก” และนั่นก็หมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าที่ยุคไหน ๆ เคยเผชิญ

แล้วเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อรับมือกับโลกยุค AI ที่ทั้งหมุนไวและไม่มีใครเคยเผชิญมาก่อน “เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้มัน” คือคำตอบเดียวที่หนักแน่น จาก CEO ของ WordSense “ถ้าเอาแบบที่คนดังเคยพูดไว้ก็คือ ‘AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่คน แต่คนที่รู้ AI จะเข้ามาแทนที่คนที่ไม่รู้ AI” เพราะในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ ยังคงมีบทบาทไม่มากไปกว่าผู้ช่วยในการทำงาน อีกทั้งแม้แต่ AI ที่ฉลาดที่สุดในโลกปัจจุบันก็ยังมีโอกาสพลั้งพลาด ไม่ต่างกับนักปราชญ์เลย มนุษย์จึงยังมีบทบาทสำคัญที่จะคอยควบคุมการทำงานของเทคโนโลยีเหล่านั้น และมอบการตัดสินใจสุดท้ายจากการประเมินสถานการณ์เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่คนที่จะทำหน้าที่นั้นได้ก็จำเป็นจะต้องเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยีนั้น ๆ เป็นอย่างดีด้วย

ดังนี้ การศึกษาเทคโนโลยีในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างทะลุปรุโปร่ง ทั้งจุดแข็งและจุดด้อย แล้วเลือกใช้ให้เหมาะสม เต็มประสิทธิภาพสูงสุด จึงเป็นวิถีทางสำคัญที่จะทำให้มนุษย์สามารถก้าวเข้าสู่ยุค AI ได้อย่างภาคภูมิและรู้สึกมั่นคงมากที่สุด “ถ้าในภาพรวมของประเทศทุกคนสามารถใช้ AI ได้ ประเทศไทยจะพัฒนาก้าวกระโดดขนาดไหน” คือคำถามที่คุณคิมฝากทิ้งทายไว้ ซึ่งหากเป็นจริง ภาพของประเทศไทยคงจะเปลี่ยนไปเกินกว่าจินตนาการจะนึกถึงแน่นอน

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง

—————————————–

Looloo Technology is a leading AI consulting company, renowned for delivering cutting-edge and customized AI and Data Analytics solutions, with expertise in predictive analytics, natural language processing (NLP), intelligent document processing (IDP), and automatic speech recognition (ASR), Our application of design thinking methodology ensures a deep understanding of our clients, complemented by a strategic consulting approach to identify areas for maximal impact. Emphasizing rigorous user testing, we fine-tune our solutions to precisely meet the users needs.

Our team is a collective of exceptional individuals with global experience handpicked from top institutions. Their relentless pursuit of excellence and commitment to innovation is what sets us apart and help bring our clients substantial growth and profitability.

🌐 Website : www.loolootech.com

📱 Facebook : Looloo Technology

📸 Instagram : loolootech

🎥 TikTok: @loolootech

 

Related news

เทคโนโลยี AI ยกเครื่อง Telesales ขายประกันผ่านโทรศัพท์ ภายใต้ข้อกำหนด คปภ.

เทคโนโลยี AI แปลงเสียงเป็นข้อความ (Speech-to-Text) ทางรอดธุรกิจประกันยุคดิจิทัล หลังพบร้องเรียนพุ่ง 300 คดี จากปัญหาพนักงานขายบิดเบือนข้อมูล-ให้ข้อมูลไม่ครบ ช่วยตรวจจับผิดแบบเรียลไทม์ ลดเวลาตรวจสอบจากแสนชั่วโมงเหลือ 15 ชั่วโมง/เดือน พร้อมประหยัดต้นทุน 30% สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า-คปภ.

หมอออนไลน์

เจาะ 4 เทคโนโลยีเพื่อเด็ก สำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ ปรึกษาหมอได้ 24 ชม. แม้อยู่ไกลโรงพยาบาล

ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของเด็กไทยกว่า 1 ล้านคน กำลังได้รับการแก้ไขด้วยเทคโนโลยี Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล ที่ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านการแชตและวิดีโอคอล พร้อมระบบติดตามอาการแบบเรียลไทม์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและการเดินทาง ขณะที่แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการผสานเทคโนโลยี AI และระบบติดตามอัตโนมัติ นับเป็นอนาคตใหม่ของวงการแพทย์เด็กที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด

Looloo Health

บางกอก เมดิคอล ซอฟต์แวร์ ใช้ AI “PresScribe” พัฒนาโดย Looloo Health ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ นำร่องในโรงพยาบาล 35 แห่งทั่วประเทศ

บริษัท บางกอก เมดิคอล ซอฟต์แวร์ จำกัด (BMS) ร่วมกับ Looloo Health โดยใช้เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ นำ AI เสริมศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล 35 แห่งทั่วประเทศที่ใช้ระบบ BMS-HOSxP และ BMS-HOSxP XE ด้วยบริการ “PresScribe”